วัดเขายี่สาร
วัดเขายี่สาร ตั้งอยู่บนเนินเขายี่สารในหมู่บ้านยี่สาร หมู่ที่ ๑ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม วัดนี้เป็นวัดโบราณ “บ้านยี่สาร” ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง และสร้างตั้งแต่เมื่อใด ตามทางสันนิษฐานของกรมศิลปากรจากสิ่งก่อสร้างต่างๆ อาทิ วิหาร อุโบสถ ตลอดจนลวดลายต่างๆนั้น ให้ความเห็นว่า วัดเขายี่สารคงสร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สมัยพระเจ้าเสือ (สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ ที่ ๘) เพราะจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ว่าเคยเสด็จทรงปลาในแถวถิ่นนี้ และเสด็จประทับที่วัดคุ้งตำหนักบางตะบูน และจากหนังสือสมโภช ๗๒ ปี พระครูสมุทรนันทคุณ เจ้าอาวาสวัดบางแคน้อย “เล่าเรื่องเมืองสมุทรสงคราม” กล่าวถึงเมืองแม่กลองไว้ว่า “เมืองแม่กลองตั้งอยู่ใกล้ปากอ่าวแม่กลอง เป็นเมืองเกิดขึ้นใหม่ นับจากมีเจ้าเมืองมา อายุประมาณ ๔๐๐ ปี ถ้านับเริ่มจากมีแผ่นดิน อายุไม่เกิน ๒,๐๐๐ ปี เพราะปรากฏหลักฐานว่า ราว พ.ศ. ๒๑๐ ชาวอินเดียได้มาตั้งเมืองทางฝั่งขวา ของแม่น้ำแม่กลอง เหนือปากน้ำซึ่งไหลมาจากตะวันตก ไปบรรจบกับลำน้ำที่ไหลมาจากทิศเหนือ (แม่น้ำภาชีกับแม่น้ำแควน้อย) แล้วตั้งชื่อเมืองตามชื่อเมืองเดิมของเขาว่า “ราชบุรี” ขณะนั้นริมฝั่งทะเลอยู่ที่คูบัว ถ้ามองไปในทะเลจะแลเห็นเกาะเล็กๆ กลางทะเล คือ เขายี่สารปัจจุบัน ต่อมามีการลดลงของระดับน้ำทะเล และการทับถมของตะกอนน้ำจืด ทำให้เกิดแผ่นดินขึ้น ดังนั้น เขายี่สาร คือ เกาะกลางทะเลในยุคโบราณกาล เป็นภูเขาลูกเดียวของจังหวัดสมุทรสงคราม และเป็นที่ชุมชนการค้ามาตั้งแต่โบราณ เรือสำเภาที่มาค้าขายจากทางทะเล จะเข้าเมืองราชบุรี ธนบุรี อยุธยา ฯลฯ น่าจะได้ผ่านที่เขายี่สารนี้ คำว่า “ยี่สาร” จึงน่าจะมาจาก คำว่า “ปสาน” ในภาษาเปอร์เซีย ซึ่งแปลว่า “ตลาด” คือ บาซาร์ (Bazaar) สถานที่ผู้คนมารวมกันตั้งร้านค้าบ้านเรือนค้าขายกันอยู่เป็นจำนวนมาก
ชุมชนเขายี่สาร จึงเป็นชุมชนที่มีตลาดการค้าใหญ่มาแต่โบราณ กรมศิลปากร ได้ทำการสำรวจขุดค้นบริเวณสถานที่ของวัดเขายี่สาร ได้พบเครื่องถ้วยชามแตก ที่เป็นของสุโขทัย เตาเมืองเก่า เครื่องถ้วยจากสันกำแพงเชียงใหม่ เศษภาชนะเนื้อแกร่งจากแหล่งเตาบางปูนสุพรรณบุรี เครื่องถ้วยเวียดนาม เครื่องถ้วยญี่ปุ่นคารัตสึ และเครื่องถ้วยศรีสัชนาลัยรุ่นแรก วัสดุต่างๆที่พบเหล่านี้ อายุอยู่ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐ – ๒๑ นอกจากนี้ยังค้นพบเปลือกหอยแครงตัวใหญ่ๆ บนชั้นดินตื้นๆ และหอยเบี้ยจำนวนมาก ซึ่งใช้แทนเงินปลีกในการซื้อสินค้า
ชุมชนวัดเขายี่สาร จึงเป็นชุมชนที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อมีชุมชนก็จะต้องมีวัด วัดเขายี่สารคงจะถือกำเนิดมาช้านาน ได้จดทะเบียนเป็นวัด เมื่อ พ.ศ. ๒๒๔๖ และได้วิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐
ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้แต่งนิราศยี่สาร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒ สมัยต้นรัชกาลที่ ๕ ในคราวเดินทางมานมัสการพระพุทธรูปบนเขายี่สาร โดยขึ้นต้นกลอนว่า “นายกุหลาบ จะนิราศคลาดสมรไปไหว้พระพุทธะชิณะวร ที่สิงขรโบราณยิสารมี...” ก.ศ.ร. กุหลาบได้กล่าวถึงวัดเขายี่สารว่า เดิมชื่อว่า “วัดแก้วฟ้า” แต่จะมาชื่อว่า วัดเขายี่สารเมื่อใดไม่ปรากฏ เพราะชื่อวัดเป็นชื่อเดียวกับตลาดบริเวณเชิงเขาลูกนี้ นอกจากนั้น ก.ศ.ร. กุหลาบ ยังได้พรรณาเกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณวัดว่า มีศาลาการเปรียญ มีกุฏิไม้สักสิบหลัง ใช้เป็นสำนักวิปัสสนา ศาลาท่าน้ำมี ๓ หลัง มีวิหาร อุโบสถ กุฏิสงฆ์หลังคามุงกระเบื้อง ๑๖ หลัง มีพระจำพรรษาอยู่ ๑๔ รูป มีเหว ๒ เหว เหวลึกอยู่ด้านหลังวิหาร แสดงว่าวัดนี้สมัยโบราณเป็นวัดใหญ่ เคยเจริญมาแล้ว
สิ่งสำคัญของวัด ที่ควรชม และนมัสการ ได้แก่
๑. อุโบสถ ปฏิสังขรณ์ใหม่สวยงามมากตั้งอยู่บนเนินเขา ประดิษฐานพระประธานปูนปั้น ปางมารวิชัยของเก่าคู่มากับวัด ภายในเขียนภาพจิตรกรรมพงศาวดารจีน เรื่อง “ห้องสิน” ที่หน้าบันประดับด้วยเครื่องถ้วยชามกังใส มีรูปไก่เป็นสัญลักษณ์
๒. วิหาร ตั้งอยู่บนยอดเขา จุดสูงสุดของวัด มีสิ่งสำคัญๆ อยู่ที่วิหารนี้ ซึ่งเป็นจุดเด่นของวัดที่ควรชม และนมัสการ ได้แก่ พระพุทธบาทสี่รอย พระพุทธบาทจำลอง ๔ รอย อยู่ภายในวิหารเป็นของโบราณเก่าแก่ มีศาลาไม้คลุมไว้ เป็นที่เคารพสักการะตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนาว่า พระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ได้เสด็จมาประทับรอยพระบาทซ้อนกันไว้ ได้แก่ พระพุทธเจ้ากกุสันโท โกนาคม กัสสปะ และพระพุทธโคดม (พระพุทธเจ้า) ลวดลายหน้าบัน และบานประตูสลักไม้ ฝีมือประณีต ลวดลายสวยงามมาก ฝีมือแกะสลักไม้ของช่างสมัยอยุธยา พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ เป็นพระพุทธรูปที่งดงามมาก ปางห้ามสมุทรประทับอยู่ที่หน้าวิหาร ซึ่ง ก.ศ.ร. กุหลาบ บรรยายไว้ในนิราศยี่สารว่าเป็นพระกินเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องเล่าต่อกันมาแต่โบราณ เป็นการเข้าใจผิด พระที่เล่าขานกันมานั้นท่านนั่งอยู่ในวิหาร มิใช่พระยืน พระปากแดง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่มาก สมัยอยุธยา ประทับนั่งอยู่ในวิหาร ที่พระโอษฐ์มีสีแดงทาอยู่ ไม่ทราบว่าทาสีแดงมาแต่เมื่อใด จึงเรียกกันว่า “พระปากแดง”
มีเรื่องเล่ากันต่อๆ มาว่า “พระกินเด็ก” เล่ากันว่า มีเด็กคนหนึ่งชอบเข้ามาวิ่งเล่นอยู่ในวิหาร วันหนึ่งได้ยินเสียงเด็กร้องกรีดๆ พระเณรพากันวิ่งขึ้นมาดูก็ไม่พบเด็ก พบแต่เสื้อผ้าของเด็กกองอยู่ และที่พระโอษฐ์ของพระก็มีเลือดติดอยู่ ก็เข้าใจกันว่าท่านกินเด็กไปเสียแล้ว เจ้าอาวาสสมัยนั้น จึงเอาตะปลิงมายิงพระโอษฐ์ไว้ เพื่อมิให้อ้าขึ้นกินคนได้อีก พระองค์นั้นก็เลยถูกทอดทิ้งไม่มีใครกล้ามาบูรณปฏิสังขรณ์ ก็เลยยังไม่ได้เบิกพระเนตร มีผู้ศรัทธาจะมาเบิกพระเนตรก็ให้มีอันเป็นเจ็บปวดลูกนัยตามาก เลยไม่มีใครกล้าอีก ถูกทอดทิ้งตลอดมา ปัจจุบันได้มีการเบิกพระเนตรแล้วหรือยังไม่ทราบได้
ผู้เขียนมีความเห็นว่า เรื่องที่เล่ากันมานั้นน่าจะมีมูลเรื่องเด็กหายไป เพราะสมัยเด็กๆ แม่เคยคิดจะพามาดูแต่ต้องพายเรือไกลมาก และไม่มีที่พักระหว่างทาง พระท่านไม่ได้กินเด็ก ตัวการสำคัญที่กินเด็ก คือ งูเหลือมตัวใหญ่ ที่อาศัยอยู่ในเหวลึกหลังวิหารนั่นเอง เด็กคงดิ้นรนต่อสู้จนเสื้อผ้าหลุดลุ่ย แล้วเจ้างูใหญ่ก็ลากเด็กผ่านพระโอษฐ์ พระอังสะ แล้วลงทางด้านหลังองค์พระ ซึ่งแคบและมืด โลหิตจึงติดพระโอษฐ์ท่านอยู่ (งูเหลือมตัวใหญ่ๆ ใหญ่กว่าโคนขาคนท้วมๆ กินสุนัขได้อย่างสบาย)
๓. ศาลคุณปู่ศรีราช สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพนับถือของชุมชนบ้านยี่สาร และละแวกใกล้เคียง
๔. พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น แสดงถึงประวัติความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตการดำรงอยู่ของชุมชนชาวยี่สารแต่โบราณกาล เปิดให้เข้าชมเฉพาะวันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๕.๐๐ น. หากวันเสาร์ – อาทิตย์ ตรงกับวันธรรมสวนะก็ใช้อาคารพิพิธภัณฑ์ ในเทศกาลเข้าพรรษาเป็นสถานที่ถือศีลอุโบสถตามประเพณีของชุมชน การเข้าชมเป็นหมู่คณะระหว่างวันจันทร์ – ศุกร์ หรือเสาร์ – อาทิตย์ ต้องแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๑ สัปดาห์ ค่าเข้าชมเด็กนักเรียน ๕ บาท ผู้ใหญ่ ๑๐ บาท
การเดินทาง ปัจจุบันการเดินทางไปวัดเขายี่สารทางรถยนต์สะดวกมาก ประมาณกิโลเมตร ที่ ๗๒ ของถนนพระรามที่ ๒ เลี้ยวเข้าทางซ้ายมือ ตรงปั๊มน้ำมัน ป.ต.ท. เลี้ยวซ้ายเข้าถนน ร.พ.ช.คลองโคน ผ่านวัดธรรมประดิษฐ์ ตรงไปตลอดไม่เลี้ยวเลย ผ่านสถานีตำรวจเล็กๆ แล้วข้ามสะพานใหญ่ สร้างข้ามคลองยี่สาร ก็ถึงวัดเขายี่สาร ระยะทางจากต้นถนนประมาณ ๗.๕ กิโลเมตร ถนนดี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จมาทรงเปิดพิพิธภัณฑ์ และเสด็จมาส่วนพระองค์อีก ทอดพระเนตรป่าชายเลน และการเผาถ่านไม้โกงกาง
หากต้องการชมวิถีชีวิตของชาวชนบทที่อยู่ริมคลอง ก็นั่งเรือชมวิวทิวทัศน์เรือกสวนตลอดเส้นทาง จากคลองบางนางลี่ หรือคลองประชาชื่นมาก็ได้ เข้าคลองเล็กคลองน้อยจนถึงคลองช่องเข้าคลองยี่สาร ก็ถึงวัดเขายี่สาร พอดีรับประทานอาหารกลางวันที่ร้านวัดเขายี่สาร
-------------------------------------------------------------------
พระมหานิรุต ญาณวุฑฺโฒ เจ้าอาวาสวัดเขายี่สาร