วัดภุมรินทร์กุฎีทอง
วัดภุมรินทร์กุฎีทอง ตั้งอยู่ที่ ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองฝั่งเหนือของปากคลองประชาชมชื่น (คลองบางลี่) ตำบลสวนหลวง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
วัดภุมรินทร์กุฎีทอง เป็นวัดโบราณวัดหนึ่งตั้งอยู่หลังวัดบางนางลี่น้อย จากหลักฐานของกรมการศาสนาปรากฏว่าเริ่มเป็นวัดมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๓๐ ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง ต่อมาครอบครัวของนางภู่สามีไม่ปรากฏ ชื่อเป็นเถ้าแก่โรงหีบอ้อยอยู่จังหวัดนครปฐม พร้อมด้วย ลูกสาว ลูกเขย และเครือญาติได้จัดสร้าง ถาวรวัตถุต่างๆ ให้แก่วัด อาทิ อุโบสถ (ต่อมาสร้างใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐) ศาลาการเปรียญ กุฏิ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ และได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ นางภู่ และครอบครัว (พงษ์พิทักษ์) เดิมมีภูมิลำเนาอยู่ใต้ปากคลองบางจาก ตำบลอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม (บริเวณนี้ สมัยโบราณมีวัดร้าง ชื่อว่า วัดตะลิงปลิง)
วัดภุมรินทร์ฯ เป็นวัดเล็กๆ อยู่ด้านหลังวัดบางนางลี่น้อย ต่อมาวัดบางนาลี่น้อยถูกน้ำเซาะพังลงแม่น้ำแม่กลองจึงย้ายกุฎีทอง ซึ่งเหลือเพียงหลังเดียว และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาไว้ที่วัดภุมรินทร์ฯ เปลี่ยนชื่อวัดใหม่ว่า “วัดภุมรินทร์กุฎีทอง”
กุฎีทอง วัดภุมรินทร์ฯ ปัจจุบันจึงเป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะมีความเกี่ยวเนื่องกับกุฎีทองของวัดบางนางลี่กุฎีทอง หรือวัดบางลี่บน (บางลี่น้อย) เพราะวัดนี้มีสมภารรูปหนึ่ง (หลวงพ่อพระปลัดทิม) เป็นที่สนิทสนมกับเศรษฐีทอง มีความเชี่ยวชาญทางโหราศาสตร์ ได้ตรวจดูดวงชะตาของคุณนาก ธิดาของเศรษฐีทองไว้ว่า มีบุญวาสนาสูงจะได้เป็นถึงนางพญามหากษัตริย์ เศรษฐีทองก็ให้คำมั่นว่า ถ้าเป็นจริงจะสร้างกุฎีทองถวาย
เศรษฐีทอง และเศรษฐีสั้น ตั้งบ้านเรือนอยู่ในตำบลบางช้าง บริเวณหลังวัดจุฬามณี ท่านเศรษฐีมีบุตรธิดาหลายคน ธิดาคนหนึ่ง ชื่อ นาก เป็นสตรีที่สวยงามเป็นที่เลื่องลือสมัยนั้นตรงกับแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศกษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา ตามประเพณีเมื่อมีกษัตริย์ขึ้นครองราชย์ใหม่ บรรดาประเทศราชน้อยใหญ่ก็จะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวาย และบางแห่งก็พร้อมด้วยพระธิดามาเป็นบาทบริจาริกา บรรดาข้าราชการในราชสำนักก็จะแสวงหาสตรีรูปงามไปถวายเป็น พระสนม บรรดามหาเล็กคนสนิทก็กราบบังคมทูลว่า มีสตรีรูปงามอยู่แขวงบางช้างนางหนึ่งเป็นบุตรีของเศรษฐีบางช้าง จึงโปรดให้เจ้าเมืองราชบุรีไปสู่ขอต่อบิดามารดา สมัยนั้นเมืองแม่กลองเป็นเมืองตรีขึ้นแก่ราชบุรีเมืองโท ท่านเศรษฐีและภรรยาพากันบ่ายเบี่ยงขอถามความสมัครใจของบุตรีก่อน จึงถามความสมัครใจของคุณนากธิดา คุณนากไม่สมัครใจที่จะไปเป็นสนมอยู่ในวัง ตัวท่านเศรษฐีเองก็มีความสงสารธิดาที่จะต้องถูกนำไปกักขังอยู่ในวัง ท่านจึงไปปรึกษาญาติ คือ พระแม่กลองบุรีเจ้าเมืองสมุทรสงคราม บังเอิญพระแม่กลองบุรีมีคนรู้จักอยู่อยุธยา คือ หลวงพินิจอักษร (ทองดี) เสมียนตรากรมมหาดไทยผู้มีหน้าที่ร่างสารตราทุกอย่างในสมัยนั้น จึงพาท่านเศรษฐีทองไปหาหลวงพินิจอักษร นำเรื่องเข้าหารือกันว่าจะทำอย่างไรดี มิให้ธิดาเศรษฐีต้องตกเข้ามาเป็นสนมอยู่ในวัง
ฝ่ายหลวงพินิจอักษร ก็เกิดปัญญาว่าบุตรชายของตน คือ นายทองด้วง ได้บวชเรียนแล้ว แต่ยังหามีคู่ครองไม่ รับราชการเป็นมหาดเล็กอยู่ในวัง ถ้าธิดาเศรษฐีบางช้างมาเป็นคู่ครองก็จะเหมาะสมกัน จึงแจ้งอุบายนี้แด่ท่านเศรษฐี และพระยาแม่กลองบุรี ทั้งสองเห็นดีเห็นชอบด้วยจึงตกลงหมั้นหมายกันตามประเพณี ท่านเศรษฐีก็รับหมั้นไว้ หลวงพินิจอักษรก็ทำฎีกากราบบังคมทูลขึ้นไปว่า ธิดาท่านเศรษฐีบางช้างนั้น ตนได้สู่ขอหมั้นหมาย ให้แก่นายทองด้วงบุตรชายไว้แล้ว กำหนดจะทำการวิวาห์มงคลเร็วๆ นี้ ขอพระราชทานให้แก่บุตรชายของตนเสียเถิด
พระเจ้าแผ่นดินเป็นเพียงได้ทรงทราบกิติศัพท์แต่ชื่อ มิได้เคยทอดพระเนตรรูปร่างหน้าตาว่างดงามเพียงไรก็มิได้มีความอาลัย จึงทรงพระราชทานอนุญาตให้ทำการวิวาห์มงคลต่อไป ท่านสมภารตรวจดูดวงชะตาของคุณนากโดยถี่ถ้วนแล้ว กล่าวแก่เศรษฐีว่า ธิดาของท่านเศรษฐีคนนี้เป็นคนมีบุญวาสนามากจะได้เป็นนางพญามหากษัตริย์ ยกวงศ์ตระกูลให้เป็นสุขจะได้พึ่งพาแก่คนทั้งหลาย
ต่อมาคุณนาก ก็ได้เข้าพิธีวิวาห์กับนายทองด้วงมหาดเล็ก นายทองด้วงได้รับแต่งตั้งเป็น หลวงอร่ามเรืองฤทธิ์ เป็นหลวงยกบัตรเมืองราชบุรี และเมืองสมุทรสงคราม สมัยกรุงธนบุรีได้เป็น พระราชวรินทร์เจ้ากรมพระเจ้าตำรวจซ้าย พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยายมราช พระยาจักรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก คุณนากก็ได้เป็นเอกอัครมเหสีในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คือ สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ เมื่อได้รำลึกถึงคำมั่นที่ให้ไว้แก่สมภารวัดบางลี่บน ฉะนั้นใน พ.ศ. ๒๓๒๕ เศรษฐีทองจึงได้สร้างกุฎีทองถวายวัดบางลี่บน ๓ หลัง วัดบางลี่บนจึงได้ชื่อต่อมาว่า “วัดบางลี่กุฎีทอง” (เอกสาร วัดภุมรินทร์กุฎีทอง หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ พระครูสถิตสมุทรคุณ (หลวงพ่อหนู) อดีตเจ้าอาวาสวัดภุมรินทร์กุฎีทอง) ต่อมาวัดนี้ได้สูญสิ้นไปแล้วเพราะน้ำเซาะดินพังลงแม่น้ำแม่กลองหมดเหมือนกับวัดอื่นๆ อีกหลายวัดริมแม่น้ำแม่กลอง เหลือกุฎีทองเพียงหลังเดียว จึงได้ย้ายมาปลูกไว้ที่วัดภุมรินทร์ และเรียกชื่อวัดว่า “วัดภุมรินทร์กุฎีทอง” ปัจจุบันกุฎีทองได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ให้ดีขึ้นสวยงามน่าชม
สิ่งสำคัญของวัด ที่ควรชม และนมัสการ ได้แก่
๑. พระพุทธรัตนมงคล (หลวงพ่อโต) พระพุทธรูปปูนปั้น ปิดทองปางมารวิชัย พระประธานในอุโบสถ
๒. กุฎีทอง ดังได้เล่าประวัติไว้แล้ว
๓. พิพิธภัณฑ์ของวัดน่าเข้าชม มีวัตถุโบราณล้ำค่าจำนวนมาก รวมทั้งเครื่องใช้ต่างๆ ของคุณนากที่ได้ถวายวัดบางนางลี่บนไว้
นอกจากนี้วัดภุมรินทร์กุฎีทอง เปิดสอนดนตรีไทย ชื่อโรงเรียนบ้านดนตรี นักดนตรีไทยหลายคนได้ถือกำเนิดในแถวถิ่นนี้ เช่น ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ และตระกูลศิลปะบรรเลง และฝึกหัดการเชิดหุ่นกระบอก ซึ่งนักเรียนระดับประถมศึกษาสามารถแสดงได้เป็นอย่างดี
การเดินทาง ไปวัดภุมรินทร์กุฎีทองสะดวกมาก จากตลาดแม่กลอง ถนนแม่กลอง - ดำเนินสะดวก ข้ามสะพานสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ลงสะพานแล้วเลี้ยวขวาผ่านวัดบางนางลี่ใหญ่ ข้ามคลองประชาชมชื่น (คลองบางลี่) ถึงวัดภุมรินทร์กุฎีทอง วัดอยู่ทางขวามือ
--------------------------------------------------------------
พระครูวินัยธรเฉลิม อุจฺจโย เจ้าอาวาสวัดภุมรินทร์กุฎีทอง
เจ้าคณะตำบลสวนหลวง