วัดเกตการาม พระอารามหลวง

วัดเกตการาม พระอารามหลวง

          วัดเกตการาม พระอารามหลวง (ธรรมยุต) ตั้งอยู่บ้านคลองวัดเกตุ หมู่ที่ ๓ ตำบลโรงหีบ อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม

          วัดเกตการาม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญธรรมยุติกนิกาย วัดแรกของจังหวัดนี้ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองและคลองวัดเกตฯ เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยาเล่ากันสืบต่อมาว่าเศรษฐีเป็นผู้สร้างไว้ ต่อมาได้รกร้างมาเป็นเวลานาน แม้แต่พระประธานที่ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถปัจจุบัน เป็นพระศิลาเนื้อแดงขนาดใหญ่ก็ตั้งอยู่กลางแจ้ง มีต้นไม้รกปกคลุมเป็นป่าอยู่ส่วนชื่อว่า “ วัดเกต ” ก็สันนิษฐานกันว่าชื่อตามต้นเกดใหญ่ (ชื่อวัดโคกเกตุบุญญศิริ ก็ชื่อตามต้นเกดใหญ่อยู่บนโคกสูง สมัยโบราณบริเวณวัดโคกเกตุฯเป็นป่าชายเลนน้ำทะเลท่วมตลอด มีโคกใหญ่บริเวณสร้างสำนักสงฆ์เท่านั้น) ซึ่งขึ้นอยู่ ณ บริเวณนี้ เพราะยังมีขอนไม้เกดขนาดใหญ่จมดินอยู่ทางทิศเหนือของวัด ขุดพบเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ เหลือแต่แก่นล้วนยาว ๕ วา ๒ นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ ศอก ๕ นิ้ว จมดินลึก ๒ ศอก ๑ คืบ ๓ นิ้ว เมื่อมาบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ และขอตั้งเป็นวัด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าอาวาสรูปแรกของวัด คือ พระอธิการแท่น โสมทตฺโต ซึ่งต่อมาได้เป็นพระมหาสมณวงค์ ในรัชกาลที่ ๕ เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม ราชบุรี และเพชรบุรี ท่านได้ต่อเติมชื่อวัดเกต ว่า “ วัดเกตราชายตนาราม ” ภายหลังสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จมาตรวจการคณะสงฆ์ มณฑลราชบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ ได้ประทับแรมที่วัดนี้ ทรงปรารภว่าชื่อวัดเกตราชายตนารามนั้น  เป็นชื่อที่ยาวและเรียกยาก จึงได้ประทานชื่อให้ใหม่ว่า “ วัดเกตการาม ”
          ในการเสด็จมาตรวจราชการของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ในครั้งนี้มีบันทึกไว้ว่า พระครูเมธีสมุทรเขตต์ เจ้าอาวาสวัดเกตฯ นำเจ้าคณะหมวดพระอุปัชฌาย์ พระอธิการเฝ้า ทรงปฏิสันถารถามถึงทุกข์สุข ความเป็นไปของวัด และพระสงฆ์ และเหตุการณ์อันเป็นไปในคณะสงฆ์ โดยมากทูลไม่ได้ เพราะพระเจ้าคณะทั้งหลายไม่สู้จะเอาใจใส่ในคณะสงฆ์ของตน จึงถูกพระตำหนิ ถ้วนหน้าที่ไม่ได้เอาใจใส่ในวัดของตนสักเท่าไรยกเว้นพระครูเมธีสมุทรเขตต์ เจ้าอาวาสวัดเกตการาม และพระอธิการเหมือนวัดกลางเหนือ
          สำหรับวัดเกตการาม มีบันทึกไว้ดังนี้
          “ วัดเกตการาม เป็นวัดมีภูมิฐานดี ตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสม มีหมู่บ้านคับคั่ง ของก่อสร้างเข้าใจวางระเบียบ และรู้จักที่จะทำให้งาม เสนาสนะกับอุโบสถอยู่ต่างจังหวัดกัน กุฏิมีอยู่หลายหลังตั้งอยู่เป็นหมู่ อุโบสถก่ออิฐ วัดนี้พระครูเมธีสมุทรเขตต์ (เพิ่ม) เป็นเจ้าอาวาสการรักษาวัดสะอาดเรียบร้อย แม้การศึกษาธรรมวินัยของภิกษุสามเณรก็นับว่าแข็งแรง พระครูได้ทูลขอครูออกไปจากวัดบวรนิเวศวิหาร และได้ตั้งการสอนการเรียนมาสองปีเข้านี่แล้ว เมื่อถึงคราวสอบไล่ได้ส่งนักเรียนเข้ามาสอบในสนามหลวง สอบไล่ได้ตามหลักสูตรแห่งองค์นักธรรมไปแล้วหลายรูป นับว่าภิกษุสามเณรมีความรู้ในธรรมวินัยเจริญขึ้นบ้างแล้ว ได้ทรงทราบจากรายงานของครูว่า ในเวลานี้มีนักเรียนถึง ๔๐ ภิกษุสามเณรวัดอื่นก็ได้มาสมทบเรียนด้วยเหมือนกัน นอกจากนี้ยังมีตั้งโรงเรียนหนังสือไทยขึ้นที่วัดอีก และสอนถึงชั้นประถมปีที่ ๔ ... ”
          สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จทอดพระเนตรวัดเกตการาม เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘ และทรงประทับแรมที่วัดนี้หนึ่งคืนในเรือพระที่นั่ง ทรงโปรด  วัดเกตการามมากเป็นพิเศษ โดยโปรดให้พระมหานายก (มณี ลิมกุล) ซึ่งเป็นชาวสมุทรสงคราม จัดส่งพระมหาเขียนมาเป็นครูสอนนักธรรมที่วัดนี้ วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๔๕๘ เสด็จต่อไปวัดสัตนาท เมืองราชบุรี วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๕๘  ทรงตั้งพระครูเมธีสมุทรเขตต์ (เพิ่ม) เจ้าอาวาสวัดเกตการาม และเจ้าคณะแขวงบางคนที เป็นเจ้าคณะธรรมยุตเมืองราชบุรี เมืองสมุทรสงคราม และเมืองเพชรบุรี
วัดเกตการามได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๓ และได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๗
          สิ่งสำคัญของวัด ที่ควรชม และนมัสการ ได้แก่
          ๑. พระอุโบสถ สร้างเมือง พ.ศ. ๒๔๗๒ โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ทรงโบราณมุข ๒ ชั้น พื้นปูด้วยหินอ่อน บานประตูบานหน้าต่างใช้ไม้สักทั้งแท่งแกะสลักลวดลายเทวรูปนพเคราะห์ลายไทย ๓ ชั้น ลงรักปิดทอง เป็นศิลปะวัตถุอันประณีตมีค่ามาก เป็นพระอุโบสถขนาดใหญ่ทางเข้า ๓ ประตู ภาพผนังสวยงามมากเล่าเรื่องทศชาติ ส่วนผนังด้านหลังเป็นเรื่องไตรภูมิพระร่วง
          ๒. พระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานไว้บูชา ในพระอุโบสถ
          ๓. พระศรีสัพพัญญู หรือ หลวงพ่อเผือก พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่โบราณ ปางมารวิชัย เนื้อศิลาแดง หน้าตักกว้าง ๔ ศอกเศษ สูง ๕ ศอกเศษ พร้อมด้วยพระอัครสาวก คือ พระโมคัลลานะ และพระสารีบุตร
          ๔. หลวงพ่อเกศมงคลพุทธพรหมบดี หรือ หลวงพ่อต่อ หรือหลวงพ่อประสาธพร เป็นพระพุทธรูปโบราณเก่าแก่ ปางห้ามญาติ เนื้อศิลาแดง องค์เล็กๆ พุทธลักษณะแบบสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารด้านหลังพระอุโบสถ นับถือกันว่าท่านมีความศักดิ์สิทธิ์มากองค์หนึ่ง
          ๕. พระพุทธนรสีห์ชินินทรมหามุนีศรีสมุทร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เนื้อโลหะลงรักปิดทอง ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ องค์รองพระประธานพร้อมด้วยพระพุทธรูปปางมารวิชัยในพระอุโบสถอีก ๖ องค์
          พระพุทธนรสีห์ ท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ ได้มาทำการหล่อองค์พระ ที่วัดเกตการามด้วยตัวของท่านเองเป็นเวลา ๑๕ วัน ท่านเจ้าคุณเคยมีภูมิลำเนาอยู่ในแถวถิ่นนี้ และบวชเป็นเณรที่นี่ องค์พระที่สร้างจำลองรูปแบบมาจากพระพุทธชินสีห์ พระประธานในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร สร้างเสร็จ เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๓

ประวัติหลวงพ่อพระศรีสัพพัญญู
          หลวงพ่อพระศรีสัพพัญญูเป็นพระพุทธรูปสำคัญ และศักดิ์สิทธิ์ของวัดเกตการามประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถหลังปัจจุบัน ตามประวัติเล่าต่อกันมาว่า แต่เดิมท่านประทับอยู่กลางแจ้งนานเท่าไรไม่มีใครทราบได้มีต้นไม้ปกคลุมองค์ท่านเป็นป่ารก สันนิษฐานว่าท่านเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่ได้สร้างมาพร้อมกับวัดโบราณ ต่อมาประชาชนใกล้วัดได้ช่วยกันถากถางต้นไม้ออก แล้วเอาปูนขาวพอกหุ้มองค์ท่านไว้คนสมัยนั้นจึงเรียกท่านว่า “ หลวงพ่อเผือก” อยู่ในวัดร้าง เพราะก่อนหน้าที่จะขออนุญาตตั้งเป็นวัดนั้นมีเจ้าอาวาสมากี่รูป ไม่สามารถจะสืบทราบได้ ต่อมาไม่มีพระอยู่กลายเป็นวัดร้าง เสนาสนะทรุดโทรม เป็นที่พำนักอาศัยของพวกทุจริตมิจฉาชีพ ใน พ.ศ. ๒๔๓๓ นายนุตร์ นางตะ (นามสกุลต่อมา คือ บุญนุช) คหบดีตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้วัด เกรงว่าวัดจะสูญเสียสถานที่แก่ศาสนาอื่น ที่เข้ามาตั้งสาขาแผ่ศาสนาอยู่ จึงอาราธนาพระอุปชฌาย์โสปากะ (ปาน) เจ้าอธิการวัดบางคณฑีนอกให้มาบูรณปฏิสังขรณ์ ท่านจึงได้ส่งพระอธิการแท่น โสมทตฺโต มาเป็นเจ้าอาวาส (ต่อมาได้เป็นพระมหาสมณวงศ์) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓
          เมื่อพระอธิการแท่นมาเป็นเจ้าอาวาสก็มีดำริจะสร้างเรือนอุโบสถครอบลงตรงที่หลวงพ่อเผือกประทับอยู่ โดยก่อนจะสร้างเรือนอุโบสถได้มีคนละแวกนั้นเล่าให้ฟังว่า พอตกกลางคืน ตอนดึกๆ มักจะได้ยินเสียงท่านร้องว่า “เมื่อไหร่จะเอากูเข้าร่มเสียที ๆ” ตั้งหลายครั้ง จนเมื่อได้สร้างเรือนอุโบสถคลุมองค์ท่านแล้ว ตั้งแต่นั้นมาท่านก็เงียบเสียงเรียกไป
          เมื่อเรือนอุโบสถที่เจ้าคุณพระมหาสมณวงศ์ได้สร้างไว้นั้นชำรุดทรุดโทรมลง เจ้าอาวาสองค์ต่อมา คือ พระครูพรหมจริยาภิรมณ์ (พรหม สุปญโญฺ) พ.ศ. ๒๔๗๑ – ๒๔๘๒ เจ้าอาวาสลำดับ ที่ ๖ ของวัดเกตการาม ได้ทำการสร้างเรือนอุโบสถขึ้นใหม่ตรงสถานที่เดิม คือ หลังปัจจุบันนี้ ทั้งนี้เพราะท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี (ผิน สุวจเถร) อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร สมัยที่ท่านยังเป็นพระมหาผินอยู่นั้น ได้นำช่างผู้ชำนาญการมาบูรณะตกแต่งองค์หลวงพ่อเผือกใหม่จนสวยงาม โดยได้รับความอุปถัมภ์ค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากนางทับทิม จั่นบุญมี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ และถวายพระนามองค์ท่านใหม่ว่า “ หลวงพ่อพระศรีสัพพัญญู ” ด้วยอภินิหารของท่านประชาชนที่มาทำบุญบำเพ็ญกุศลภายในวัด ก็มักจะไปขอพรจากท่านอยู่เสมอ จนเป็นที่เคารพบูชาเลื่อมใสของประชาชนทั่วไป

ประวัติหลวงพ่อเกศมงคลพุทธพรหมบดี
          หลวงพ่อเกศมงคลพุทธพรหมบดีนี้ องค์เดิมเป็นพระพุทธรูปเนื้อศิลาแดงที่เก่าแก่มากจนไม่สามารถสืบอายุได้ร้อยกว่าปี เพราะท่านประทับอยู่ในวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ชื่อวัดสร้อยฟ้า เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่ากลายเป็นวัดร้างมาจนถึงสมัยกรุงธนบุรี สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีผู้มาจับจองทำไร่ทำสวน แล้วเปลี่ยนกรรมสิทธ์ถือครองกันต่อๆ มาจนกระทั่งกรรมสิทธิ์ของชาวจีนครองครัวหนึ่ง นับถือศาสนาคริสต์ แล้วตั้งแต่วัดคริสต์ วัดนี้อยู่ปากคลองบางนกแขวกบน (บางนกแขวกล่าง อยู่ทางวัดประชาฯ) หลวงพ่อถูกทอดทิ้งอยู่ในป่ารก ไม่มีสภาพวัด เจดีย์ วิหาร โบสถ์ ไม่มีแล้ว และพวกเข้ารีตก็ไม่นับถือองค์ท่าน ผู้เฒ่าผู้แก่ที่อาศัยในแถบนั้นเล่ากันว่า กลางคืนดึกๆ จะได้ยินเสียงร้องว่า “เอากูออกไปที ๆ” เพราะท่านไม่ปรารถนาที่จะอยู่วัดนี้ต่อไป บางครั้ง ก็ร้องว่า “กูแสบหลังเต็มที ๆ” เพราะองค์ท่านเป็นเนื้อหินทรายแดง ผู้คนเอามีดไปลับให้คมที่หลัง ของท่าน เมื่อไม่ได้ผล จึงไปเข้าฝันจีนเข้ารีตคนหนึ่ง อยู่ที่คลองตาจ่าว่า “ขอให้ช่วยนำท่านออกจากวัดเข้ารีต เมื่อช่วยท่านแล้ว ท่านจะช่วงบ้าง” ทีแรกชายจีนผู้นั้นไม่เชื่อ ต่อมาวันหนึ่งไปตัดต้นมะขามที่ขึ้นอยู่ใกล้บ้านของตน ต้นมะขามโค่นลงจะทับตนเข้าก็เกิดอัศจรรย์เหมือนมีอะไรมาผลักให้พ้นไปเสีย ตกกลางคืน หลวงพ่อไปเข้าฝันชายผู้นั้นอีก “เห็นไหมเล่า เมื่อตอนกลางวัน ถ้าอั้วไม่ช่วย ต้นมะขามต้องทับลื้อตายแน่ๆ อั้วได้ช่วยลื้อแล้ว ลื้อต้องช่วยอั้วบ้าง” คราวนี้ชายจีนผู้นั้นจึงไปว่าจ้างแม่ชีเข้ารีตช่วยนำท่านออกจากวัด แม่ชี ๒ คน นำท่านเคลื่อนที่ ได้ประมาณ ๒ วาเศษ เท่านั้น ก็ช่วยกันทุบพระเศียรของท่าน (คงจะหนักมากลากไม่ไหว) พบทองคำหนัก ๔ บาท อยู่ในพระเศียรนั้น พากันดีใจนำเข้าไปจำหน่ายในกรุงเทพมหานคร แต่ปรากฏว่าแม่ชีนั้นหายไปไม่ได้ กลับมา ต่อมาหลวงพ่อได้ไปเข้าฝันชาวบ้านบอกให้ทราบว่า “แม่ชี ๒ คนนั้นได้พากันจมน้ำหายไปทั้งคน และทองคำเสียแล้ว”
          ต่อมาหลวงพ่อได้ไปเข้าฝันบอกหวยให้แก่นายพาน คนนับถือศาสนาพุทธว่า “เราจะบอกหวยให้แก่ท่าน ขอให้ท่านนำเราออกจากวัดเข้ารีตทีเถิด” นายพานเป็นคนมีฐานะดีไม่เคยเล่นหวยจึงไม่ได้ไปแทง และหวยก็ออกตัวที่หลวงพ่อบอก นายพานจึงนำเรื่องไปเล่า ให้หลวงพ่อเพิ่มฟัง (ต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๒ ของวัดเกตการาม และได้สมณศักดิ์เป็นพระครูอุดมธีรคุณ) หลวงพ่อเพิ่มจึงไปหานายอำเภอบางคนทีสมัยนั้นชื่อนายมังกร (ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอนุรักษ์ภักดี) ขอให้ช่วยเจรจาขอหลวงพ่อเกศฯ ต่อบาทหลวงวัดเข้ารีต ก็ได้คืนมาตามประสงค์ นำท่านลงเรืออัญเชิญมาไว้  วัดเกตการาม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ เรียกกันว่า หลวงพ่อต่อ เพราะนายช่างได้เอาปูนมาปะติดปะต่อบูรณะองค์หลวงพ่อใหม่ แล้วพอกปูนหุ้มอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้ท่านมั่นคงแข็งแรง และสวยงาม
          วัดคริสต์ที่กล่าวถึงนี้ คือ ศูนย์เผยแผ่ศาสนาคริสต์คาทอลิกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สถานที่สร้างวิหารพระแม่บังเกิดอันสวยงามใหญ่โต
          หลวงพ่อต่อ มีอภินิหารมากเป็นที่เลื่องลือ ในวันที่ประกอบพิธีสมโภชองค์หลวงพ่อนั้น มีคนเห็นจระเข้ตัวหนึ่งผุดขึ้นผงกศีรษะคำนับหลวงพ่อต่อในประรำพิธีถึง ๓ ครั้ง ระหว่างที่หลวงพ่อประดิษฐานอยู่ในประรำชั่วคราวนั้น เล่ากันว่า น้ำหน้าวัดเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ใครเป็นโรคตาแดง ตาเจ็บ ยกมือขึ้นไหว้วักน้ำลูบหน้าโรคตาก็หาย หลวงพ่อต่อไม่มีชื่อ ต่อมามีผู้รู้มาแจ้งว่า ท่านชื่อ “หลวงพ่อเกศมงคลพุทธพรหมบดี”
          ปัจจุบันนี้ หลวงพ่อเกศฯ เป็นที่พึ่งพาของประชาชนทั่วไป มีผู้มาบนบานขอความช่วยเหลือหรือขอลาภผลจากหลวงพ่อเกศฯ โดยชอบธรรมก็มักจะได้รับผลสำเร็จตามประสงค์ จึงมีประชาชนเข้ากราบบูชา หลวงพ่อเกศฯ อยู่แทบทุกวัน

          คาถาบูชาหลวงพ่อเกศมงคลพุทธพรหมบดี
                    อะระหัง  พุทโธ  พุทโธ  เม  นาโถ  
                                         ธัมโม  เม  นาโถ
                                         สังโฆ  เม  นาโถ (๑ ครั้ง)
          บูชาหลวงพ่อเกศฯ ด้วย
                    ๑. เทียน ๒ เล่ม
                    ๒. ธูป ๕ ดอก

          การเดินทาง วัดเกตการาม อยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองด้านตะวันตก เส้นทางเดียวกับค่ายบางกุ้ง ตามถนนผลไม้ จากวัดบางแคใหญ่ - บางแคน้อย - วัดโบสถ์ - ค่ายบางกุ้ง - วัดตรีจินดาวัฒนาราม - วัดกลางเหนือ - วัดเกตการาม อยู่ทางขวามือ

 

---------------------------------------------------------------------
พระเทพสุเมธี เจ้าอาวาสวัดเกตการาม (พระอารามหลวง)
เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม (ธรรมยุต)

 

 

 


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image

image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
 
 
 
 

Website Policy | Privacy Policy | Security Policy | Disclaimer | ข้อกำหนดการใช้ Cookies รองรับการทำงานบน Internet Explorer v.11+, Microsoft Edge, Firefox v.47.0+, Chrome v.51+

จำนวนการเข้าชม : 1,698,603