วัดประดู่ พระอารามหลวง

วัดประดู่ พระอารามหลวง

          วัดประดู่ (พระอารามหลวง) ตั้งอยู่ที่บ้านบางกระรี้ หมู่ที่ ๒ ตำบลวัดประดู่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
          วัดประดู่เป็นวัดโบราณ ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่ได้รื้อไปแล้ว เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์วัดหนึ่งในเมืองแม่กลอง หน้าวัดมีต้นประดู่ใหญ่ต้นหนึ่ง และคลองหน้าวัด คือ คลองประดู่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสต้นทางชลมารคมาถึงวัดนี้ เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ และหยุดพักทำครัวเสวยเช้าที่วัดนี้ ผูกเรือที่ต้นประดู่ใหญ่ ปัจจุบันนี้ทางวัดได้ทำแผ่นป้ายใหญ่ริมคลองหน้าวัดตรงต้นสะเดา บันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ไว้ว่า "พระราชประวัติเสด็จประพาสต้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ณ วัดประดู่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม รัตนโกสินทร์ ศก ๑๒๓ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๔๗"
          ณ สถานที่แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย (ผู้จดหมายเหตุ) พร้อมด้วยเจ้าฟ้าหลายพระองค์ และสมเด็จ ข้าราชบริพาร ได้เสด็จทางชลมารค โดยเรือพระที่นั่งรอง (เรือมาด ๔ แจว) ได้มา จอดพัก และผูกเรือพระที่นั่ง ณ ต้นสะเดาต้นนี้ เพื่อทำครัวเสวยพระกระยาหารเช้า ณ บริเวณนี้ และได้เสด็จกลับไปเมื่อเวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น. เศษ (บ่าย ๓ โมงเย็น) เพื่อเสด็จประทับแรมที่จังหวัดสมุทรสงคราม
          รายพระนาม และนามผู้ตามเสด็จ (ผู้ตามเสด็จส่วนใหญ่ เชื้อพระวงศ์ราชินีกูลบางช้าง)
               ๑. สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ (กรมหลวงนครราชสีมา)
               ๒. เจ้าฟ้าวชิราวุธ (ร.๖)
               ๓. สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
               ๔. กรมพระยาสมมติอมรพันธุ์
               ๕. สมเด็จพระปิตุฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
               ๖. สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์
               ๗. เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุญนาค)
               ๘. กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ
          มีผู้เล่าว่า “วัดประดู่ผีดุมากและมีลายแทงขุมทรัพย์” วันดีคืนดี ฝนตกหนักมีคนเห็นเป็ดเงินเป็ดทองมาเล่นน้ำฝน เมื่อพบคนก็จะหนีลงสระน้ำหายไป และยังมีเรื่องอื่นๆ เล่าอีกมาก ปัจจุบัน สระน้ำนี้ได้ถมสร้างอุโบสถใหม่ไปแล้ว ส่วนเรื่องลายแทงนั้นได้มาอ่านพบภายหลังว่า “วัดประดู่มีรู ๙ รู รูไหนแจ้งให้แทงรูนั้น...” ความจริงเป็นปริศนาธรรม แต่นักแสวงหาโชคลาภทรัพย์สมบัติพากันมาที่
          วัดประดู่เป็นอันมาก บ้างลงงมที่สระน้ำบ้าง ไปขุดใต้ต้นมะขามบ้าง ไปขุดใต้ต้นสะตือ ซึ่งมีอายุเก่าแก่หลายร้อยปีทุกคนมักจะคว้าน้ำเหลว จนทางวัดต้องหาอุบายถมสระ และสร้างอุโบสถบนสระนั้น
          ยิ่งกว่านั้นบางคนไปตีปริศนาว่า “๙ รู คือ หลุมลูกนิมิต ๙ ลูก” เมื่อคราวฝั่งลูกนิมิตก็คงจะฝังทรัพย์สมบัติไว้ด้วย บางคนก็ว่า รู ๙ รู “คือทวารทั้งเก้า” ได้แก่ หู ๒ จมูก ๒ ปาก ๑ ตา ๒ ทวารหนัก ๑ ทวารเบา ๑ รวมเป็น ๙ คำว่า “รูไหนแจ้ง” ก็คือตาทั้ง ๒ นี่เอง คงจะฝังของดีมีค่าเอาไว้ ก็เอาชะแลงมาแทงตาพระประธานในโบสถ์ ควักพระเนตรออกเสียก็ไม่พบอะไร คนอื่นๆ เห็นตาพระประธานกลวงก็เข้าใจว่ามีคนได้ของดีไปแล้ว แอบมาควักตาแทงตาพระสาวกองค์อื่นๆ ก็ไม่พบอะไร ในตำบลวัดประดู่สมัยนั้นจึงมีคนตาบอด ตามืดมัวหลายคน รักษาเท่าไรก็ไม่หลาย เรื่องราวมากระจ่างเมื่อบางคนตอนสิ้นใจตามได้สารภาพกับลูกหลานว่า ทำบาปหนักไปแทงตาพระพุทธรูปในอุโบสถจึงได้เป็นเช่นนี้ ตาของพระพุทธรูปในอุโบสถหลังเก่าจึงบอดหมดทุกองค์ ต้องลงรักปิดทอง  ปิดตาไว้
          แท้จริงแล้ว คำว่า “มีรู ๙ รู รูไหนแจ้งให้แทงรูนั้น” คือ มรรค ๘ และผล ๑ รวมเป็น ๙ รู รูไหนแจ้ง คือ รู้แจ้ง ได้แก่ วิปัสสนา ได้ดวงตาเห็นธรรม เรียกว่าธรรมจักษุนั่นเอง
          วัดนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีสมภารรูปหนึ่งเป็นเจ้าอาวาส ซึ่ง พระอธิการแจ้ง ได้สร้างความเจริญให้แก่วัดมากมาย หลวงปู่แจ้งทำให้วัดประดู่มีชื่อเสียงโด่งดัง เพราะมีอาคมขลังเชี่ยวชาญในญาณอภิญญารักษาโรคด้วยน้ำมนต์ และยาเสก (ใบมะกากับข่า) สำหรับต้มกิน ร.๕ คงจะได้ยินกิตติศัพท์ของหลวงปู่แจ้ง จึงได้เสด็จมาจนถึงวัดประดู่ เพื่อดูหลวงปู่รดน้ำมนต์ ดังมีบันทึกของสมเด็จกรม   พระยาดำรงราชานุภาพ พระราชเลขาในคราวเสด็จวัดประดู่ครั้งนี้ว่า “เข้าคลองเล็กที่ชื่อว่า คลองวัดประดู่ ถึงที่วัดเสด็จแวะพักทำครัวเสวยพระกระยาหารเช้าที่วัดนั้น กองล้างชามเที่ยวตรวจไปได้ความแปลกประหลาดที่วัดนี้ว่า วัดนี้มีพระหมอกำลังรักษาไข้ด้วยการรดน้ำมนต์ ซึ่งมีคนไข้มารักษาตัวอยู่หลายคนเมื่อเลี้ยงกันเสร็จแล้ว จึงพากันไปดูพระรดน้ำมนต์ น้ำมนต์อย่างนี้ฉันเพิ่งเคยเห็น คนพูดจาดีๆ พอเข้าไปนั่งให้พระรดน้ำมนต์ ก็มีกิริยาอาการวิปลาสต่างๆ บางคนเฝ้าแต่ขากเสลด ขากปู ขากปู พ่นน้ำลายไปจนพระหยุดรดน้ำมนต์จึงหยุดขาก หันกลับมาบอกว่าสบายในอกโล่งทีเดียว ยายแก่คนหนึ่งตาบอด ลูกสาวพามาให้รดน้ำมนต์ พอรดน้ำมนต์เข้าก็ร้องครวญคราง และวิงวอนว่า “กลัวแล้ว จะไปแล้ว เท่านั้นเถิด” อย่างนี้จนพระหยุดรด ถามคนไข้ได้ความว่า ยายคนนี้เดิมมีคนมา  สู่ขอลูกสาว แต่แกไม่ให้เขาโกรธกระทำให้ผีสิง จนไม่เป็นสติอารมณ์ ต้องมารักษาตัวที่วัดประดู่ แต่พวกเราที่ตามเสด็จไม่มีใครรับอาสาสมัครเข้าไปรดน้ำมนต์ จึงไม่มีพยานที่จะยืนยัน ถ้าหากว่าพวกเราเข้าไปรดน้ำมนต์ ขากปูๆ ลงสักคน ก็เห็นจะน่าเชื่อขึ้นมาก”
          ปัจจุบันนี้ กระถางรดน้ำมนต์ของหลวงปู่แจ้ง ก็ยังอยู่ และได้ใส่น้ำมนต์ไว้ให้ญาติโยมสาธุชนได้นำไปอาบ ดื่มกิน เพื่อเป็นสิริมงคลตลอดมา หลวงปู่แจ้งเคยรับนิมนต์เข้าไปในพระบรมมหาราชวังหลายครั้ง เพื่อรักษาราชโอสรบ้าง ไปงานพระศพพระเจ้าลูกยาเธอบ้าง งานพระศพของพระเจ้าน้องยาเธอบ้าง ฯลฯ แต่ละครั้งได้รับเครื่องพระราชศรัทธามาหลายอย่างจาก ร.๕ อาทิ ตู้ใส่ของ บาตร สลกบาตร ปิ่นโต ตาลปัตร กาน้ำ กี่ใส่ยาฉุน ฝาบาตรไม้ฝังมุก ตะเกียงสายฟ้าแลบ นาฬิกาปารีส ย่ามหนัง เก๋งเรือพระที่นั่ง พระแท่นบรรทม ซึ่งทางวัดได้เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี และยังมีพระตำหนักของเจ้าจอมมารดา ของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ถวายไว้ ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงเป็นกุฏิสงฆ์ยังเหลือฝา และวงกบประตูให้เห็นอยู่
          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองสมุทรสงคราม ๔ ครั้ง ได้เคยเสด็จมาเยี่ยมหลวงปู่แจ้งถึง ๒ ครั้ง กล่าวกันว่า หลวงปู่แจ้ง เป็นพระที่มีศีลาจารวัตร งดงามเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้ที่พบเห็น แม้แต่กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ก็ยังฝากพระองค์เป็นศิษย์เช่นเดียวกัน
          วัดประดู่เป็นวัดที่ควรชมอย่างยิ่ง นอกจากความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีศิลปะพื้นบ้านที่น่าชมอีกมากมาย เป็นศิลปะไม้แกะสลัก เช่น ทหารถือปืน ปัจจุบันทำรูปทหารถือปืนด้วยเซรามิค เป็นรั้วหน้าวัดริมคลองประดู่ รูปแกะไม้ยายแก่นมยานมีเด็กจูง รูปแกะไม้คนจีนนั่งเก้าอี้ แสดงลักษณะที่เป็นจริงในชีวิตประจำวัน
          สิ่งสำคัญของวัด ที่ควรชม และนมัสการ ได้แก่

               ๑. พระประธานในพระอุโบสถ แกะสลักด้วยศิลาแดง ปางสมาธิหนึ่งองค์ องค์ที่ ๒ แกะสลักด้วยศิลาแดง และองค์ที่ ๓ พระพุทธรูปหล่อด้วยทองเหลือง ปางมารวิชัย
               ๒. พิพิธภัณฑ์วัดประดู่ แสดงเครื่องพระราชศรัทธาพระราชทานหลวงปู่แจ้งและวัตถุโบราณ ล้ำค่า อีกจำนวนมาก
               ๓. ศาลาการเปรียญหลังใหญ่ มีภาพจิตรกรรมบนเพดานสวยงามมาก เขียนขึ้นในสมัย รัชกาลที่ ๒ เป็นภาพยักษ์ ลิง หนุมานแผลงฤทธิ์ ภาพฤๅษีหยอกล้อกัน สูบกัญชา หัวล้านชนกัน ลุกนั่งไม่สำรวม ตลอดจนภาพรูปคนธรรพ์ เทวดา ฯลฯ น่าดูชมมาก
               ๔. ต้นสะเดาประวัติศาสตร์ หน้าวัด เป็นที่ผูกเรือพระที่นั่ง
               ๕. ศาลาพลับพลาที่ประทับ ร.๕
               ๖. ศาลาแสดงเก๋งเรือพระราชทานหลวงปู่แจ้ง
               ๗. พระแท่นบรรทม
          การเดินทาง วัดประดู่อยู่ริมคลองประดู่ ต้นคลองอยู่วัดแก้วเจริญ ผ่านหน้าวัดประดู่แล้วล่องเรือไปถึงวัดช่องลมวรรณารามได้ ปัจจุบันใช้เส้นทางบกสะดวกกว่า มีถนนติดต่อถึงกันได้ตลอด เข้าได้หลายทาง ที่สะดวกคือ ข้ามสะพานพระศรีสุริเยนทร์ ข้ามแม่น้ำแม่กลองจากฝั่งเมืองมาแล้ว เลี้ยวซ้ายมือข้ามคลองยายชี ผ่านวัดบางแคกลางไปประมาณ ๑ กิโลเมตร ผ่านทางเข้าวัดปรกสุธรรมมาราม ทางขวามือเลยวัดปรกฯ ไปเล็กน้อย ถึงทางเข้าวัดประดู่อยู่ทางขวามือ

 

--------------------------------------------------------------------------

พระภาวนาวิสุทธิโสภณ เจ้าอาวาสวัดประดู่ (พระอารามหลวง)
เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม

 

 

 


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image

image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
 
 
 
 

Website Policy | Privacy Policy | Security Policy | Disclaimer | ข้อกำหนดการใช้ Cookies รองรับการทำงานบน Internet Explorer v.11+, Microsoft Edge, Firefox v.47.0+, Chrome v.51+

จำนวนการเข้าชม : 1,667,038