วัดอัมพวันเจติยารามวรวิหาร
วัดอัมพวันเจติยาราม เป็นพระอารามหลวง ชั้นโทชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ทิศเหนือจดถนนหลวง ทิศใต้จดแม่น้ำแม่กลอง ด้านข้างทั้งสองด้านติดกับลำคลอง วัดนี้สร้างในสมัย ร.๑ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ ได้รับวิสุงคามสีมา พ.ศ. ๒๓๒๕
วัดอัมพวันเจติยาราม มีความสำคัญยิ่ง ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะเป็นนิวาสสถานเดิมของหลวกยกบัตร (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ราชวงศ์จักรี) และคุณนาก (สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระบรมราชินี ใน รัชกาลที่ ๑) ได้มาอาศัยอยู่หลังจากที่บ้านเดิมใกล้วัดจุฬามณีถูกไฟไหม้ไปหมดแล้ว เมื่ออพยพมาจากป่า บริเวณหลังวัดจุฬามณี จึงได้มาอาศัยอยู่ ณ ที่นี้ และได้คลอดบุตรคนที่ ๔ คือ คุณฉิม (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒) ณ สถานที่แห่งนี้ เชื่อกันว่า คือ บริเวณพระปรางค์ของวัดอัมพวันฯ ซึ่งรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้น เพื่อบรรจุพระสรีรังคารของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระราชบิดา
สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ และบรรดาพระญาติได้ร่วมกันสร้างวัดนี้ถวายสมเด็จพระมารดา (สมเด็จพระรูปศิริโสภาคมหานาคนารี) ซึ่งได้อุทิศบ้านเดิม และที่ดินทั้งหมดให้สร้างวัดและได้บวชเป็นพระรูปชีจำศีลอยู่ ณ วัดนี้จนตลอดชีวิต
วัดนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์ตลอดมาตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระวิหารน้อย (พระที่นั่งทรงธรรม) พระวิหาร และกุฏิใหญ่
รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์ พระอุโบสถทั้งหลังและทรงสร้างโรงธรรมศาลาขึ้นใหม่อีกหลังหนึ่ง
รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดอัมพวันฯ ได้ทรุดโทรมลงไปมากได้เสด็จมาทอดพระเนตร เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๒ คราวที่เสด็จประพาสมณฑลราชบุรี หลังจากนั้นได้ทรงแต่งตั้งพระครูวัดบ้านแหลมขึ้นเป็นพระราชาคณะที่พระมหาสิทธิการ (แดง) และโปรดให้ไปครองวัดอัมพวันฯ เพื่อไปบูรณปฏิสังขรณ์ให้ทรงสภาพดีขึ้น
สิ่งสำคัญของวัด ที่ควรชม และนมัสการ ได้แก่
๑. พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระปั้นของเก่า ปางมารวิชัย
๒. พระพุทธรูป ปางพุทธไสยาสน์ ประดิษฐานอยู่ทางทิศใต้ของพระวิหารใหญ่
๓. พระพุทธโสธรจำลอง ประดิษฐานอยู่ที่บริเวณลานจันทน์
๔. วิหารและพระปรางค์ในพระวิหาร ซึ่งเป็นสถานที่บรรจุพระสรีรังคารของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
๕. พระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
๖. พระอุโบสถ พระวิหาร พระที่นั่งทรงธรรม พระตำหนักใหญ่ พระตำหนักเล็ก ศาลาการเปรียญ ตลอดจนกุฏิสงฆ์
พระอุโบสถเดิม ของวัดอัมพวันเจติยาราม (เดิมเรียกว่าวัดอัมพวา) เป็นฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ ๑ ถือว่าเป็นวัดต้นวงศ์ราชินีกูลทางฝ่ายสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ เหมือนกับพระอุโบสถ
วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดต้นวงศ์พระบรมราชวงศ์จักรี ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระอุโบสถของวัดปัจจุบันนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ ไดยมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำริให้เขียนภาพฝาผนังในพระอุโบสถวัดอัมพวันฯ เรื่องเกี่ยวกับ พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพื่อให้สอดคล้องกับที่เป็นสถานที่พระบรมราชสมภพ โดยแบ่งการเขียนผนังพระอุโบสถเป็นห้องๆ เริ่มตั้งแต่ผนังด้านซ้ายหรือด้านทิศเหนือเวียนไปตามลำดับ ดังนี้
ห้องที่ ๑ พระบรมราชสมภพ ทรงศึกษาอักขรสมัย และโสกันต์ที่บ้านหลวง เมืองบางกอก
ห้องที่ ๒ พระราชพิธีสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม และทรงผนวชพิธีรับพระสุพรรณบัฏ ในพระบรมมหาราชวัง
ห้องที่ ๓ พระราชพิธีอุปราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เมื่อพุทธศักราช ๒๓๔๙
ห้องที่ ๔ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ห้องที่ ๕ พระราชพิธีรับ และสมโภชพระยาเศวตกุญชร สมโภชพระพุทธบุษยรัตน์ และพระราชพิธีลงสรงเจ้าฟ้ามงกุฎ
ห้องที่ ๖ สร้างเมืองนครเขื่อนขัณฑ์ ทูตเฝ้า และรับครัวมอญ
ห้องที่ ๗ พระราชพิธีโสกันต์ พระราชพิธีทรงผนวช สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ และพระราชพิธีวิสาขบูชา
ห้องที่ ๘ การสร้างวิหารหลวง วัดสุทัศน์เทพวราราม สร้างเมืองสมุทรปราการ และการสถาปนาพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม
ฯลฯ
การเดินทาง การเดินทางไปวัดอัมพวันเจติยาราม ใช้เส้นทางเดียวกันกับการเดินทางไปอุทยาน ร.๒ เพราะอยู่ติดกัน จากตลาดแม่กลองใช้เส้นทางแม่กลอง – อัมพวา บางนกแขวก ผ่าน วัดแก้วฟ้า วัดบางกะพ้อม วัดนางวัง ถึงแยกไฟเขียวแดง ตรงไปอำเภออัมพวา ข้ามสะพาน คลองอัมพวา ลงจากสะพานถึงวัดอัมพวันเจติยาราม อยู่ทางซ้ายมือ
-----------------------------------------------------------------------------------
พระครูโสภณคุณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยารามวรวิหาร