วัดบางกุ้ง
วัดบางกุ้ง ตั้งอยู่ที่บ้านค่าย หมู่ที่ ๔ ตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
วัดบางกุ้ง เป็นวัดโบราณ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง จากหลักฐาน ที่คงเหลืออยู่ ประมาณว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พ.ศ.๒๒๕๐ – ๒๓๐๐ แต่เดิมวัดบางกุ้งมี ๒ วัดใกล้เคียงกัน คือ วัดบางกุ้งน้อย และวัดบางกุ้งใหญ่ ผู้สร้างเป็นพี่น้องกัน ต่อมาวัดบางกุ้งน้อยได้รกร้างไป จึงได้รวบรวมเนื้อที่ของวัดบางกุ้ง ๒ วัดเข้าเป็นวัดเดียว คือ วัดบางกุ้งใหญ่ และชื่อว่าวัดบางกุ้ง ในปัจจุบัน
มีเรื่องเล่าว่า วัด ๓ วัดในสมัยโบราณ มีความเกี่ยวเนื่องกัน คือ วัดโบสถ์ วัดบางกุ้งใหญ่ และวัดบางกุ้งน้อย ตั้งอยู่เรียงกันไป เจ้าของวัดเป็นเศรษฐี และภรรยาของเศรษฐี เศรษฐีชื่อ ทอง (ชื่อเดียวกับบิดาของคุณนาก หรือสมเด็จพระอมรินทรามาตย์พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๑) เศรษฐีทองมีภรรยา ๒ คนพี่ชื่อใหญ่ คนน้องชื่อน้อย และเป็นภรรยาน้อย ต่อมาเศรษฐีทองมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งชื่อว่า วัดโบสถ์ ริมคลองแควอ้อม ส่วนภรรยาหลวงก็สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง ชื่อ วัดบางกุ้ง (บางกุ้ง เป็นชื่อของหมู่บ้านโบราณเรียกกันว่า “บ้านบางกุ้ง” เพราะหมู่บ้านในย่านนี้มีกุ้งชุกชุมมาก ชาวบ้านส่วนมากประกอบอาชี ดักกุ้ง รอกุ้ง ช้อนกุ้ง มาทำกะปิขายอยู่ทั่วไปจึงเรียกว่าบ้านบางกุ้ง) ตามชื่อของหมู่บ้านนี้ น้องสาวซึ่งเป็นภรรยาน้อยก็มีศรัทธาสร้างวัดเล็กๆ ขึ้นวัดหนึ่ง อยู่ระหว่างวัดโบสถ์กับวัดบางกุ้ง มีอุโบสถหลังเล็กๆ เป็นโบสถ์มหาอุด ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า วัดบางกุ้งน้อย ส่วนวัดบางกุ้งของพี่สาวก็เรียกว่า วัดบางกุ้งใหญ่ วัดทั้งสองพี่น้องนี้มีผืนดินติดต่อกัน ภายหลังวัดบางกุ้งน้อยเป็นวัดร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นป่ารก กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญก็ผุพังตามกาลเวลา ยังเหลืออุโบสถ์หลังน้อยกับ หลวงพ่อนิลมณี (หลวงพ่อดำ) ซึ่งมีรากไม้หลายชนิดช่วยกันโอบอุ้มอุโบสถ ไว้ให้คงสภาพอยู่ได้มาจนทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่แลเห็นได้ชัดเจน คือ รากของต้นโพธิ์ จึงเรียกกันว่า อุโบสถปรกโพธิ์ อีกชื่อหนึ่ง อุโบสถหลังนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของชาติไทย
ส่วนวัดบางกุ้งใหญ่ หรือวัดบางกุ้งปัจจุบัน ได้รับการพัฒนาดีขึ้นมาก เพราะเป็นสถานที่สำคัญ แหล่งประวัติศาสตร์และการท่องเที่ยว วัดบางกุ้ง เมื่อแรกก่อสร้างตั้งวัดมีความเจริญรุ่งเรืองมาก เพราะได้เจ้าอาวาสที่มีความสามารถมาปกครอง อาทิ
หลวงปู่พระอุปัชฌาย์แย้ม (พ.ศ. ๒๓๙๘) มีความสามารถเรื่องแร่แปรธาตุ เป็นผู้สร้างตำหรับฆ่าปรอทได้สำเร็จ มรณภาพ พ.ศ. ๒๔๔๔
หลวงพ่อเพิ่ม (พ.ศ. ๒๔๔๔) เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางศิลปะหลายสาขา เช่น การเขียนภาพเหมือน การวาดภาพวิจิตรต่างๆ ภาพฝาผนัง การปั้นรูปเหมือนต่างๆทั้งสัตว์ และผลไม้ มีความสามารถมากในการทำดอกไม้ไฟ และวิชาการช่าง ได้ย้ายกุฏิสงฆ์เข้าเป็นหมวดหมู่ มีระเบียบ บริเวณสระน้ำใกล้อุโบสถ
หลวงพ่ออธิการรอด (พ.ศ. ๒๔๖๐) หลวงพ่อรอดมีความรู้ทางแพทย์แผนไทย เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมมาก หลวงพ่อรอดมีชื่อเสียงมาก เช่น ยาเขียว ยาหอม ยาธาตุโสฬส ยาธาตุบรรจบ ยาสำหรับเด็ก เช่น ยามหานิลแท่งทอง ยาเทพมงคล ยากวาดเม็ดแดง ซึ่งกลายเป็นยาตำราหลวงในการต่อมา นอกจากนี้ท่านยังช่วยกวาดยาเด็ก สูญฝี เป่ากระหม่อมเด็ก เป็นที่เคารพเลื่อมใสของสาธุชนทั่วไป มรณภาพ พ.ศ. ๒๔๗๐
หลัง พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นต้นมาวัดบางกุ้งเริ่มเสื่อมลงจนกระทั่งไม่มีพระอยู่และหาเจ้าอาวาสไม่ค่อยได้
พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้พระครูสังฆรักษ์สุธนมาเป็นเจ้าอาวาสได้ทำการย้ายกุฏิสงฆ์จากข้างโบสถ์ออกมาอยู่ใกล้แม่น้ำ สภาพของวัดก็ยังไม่เจริญขึ้นมากนัก พ.ศ. ๒๕๐๑ ท่านได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าราบ ราชบุรี
พ.ศ. ๒๕๐๑ พระครูสกลวิสุทธิ์ เจ้าคณะตำบลมารักษาการเจ้าอาวาส พระสมุทรสุธีเจ้าอาวาสวัดกลางเหนือ พร้อมด้วยทายกทายิกาพากันไปนิมนต์ พระอาจารย์เยื่อ ฉตฺตโป จำพรรษาอยู่วัดบางแคใหญ่อยู่กับหลวงปู่กอน โฆสโก (พระครูโฆสิตสุตคุณ) มาเป็นเจ้าอาวาสในปี พ.ศ.๒๕๐๓
พระอาจารย์เยื่อ ฉตฺตโป (พ.ศ. ๒๕๐๓) พระอาจารย์เยื่อ เมื่ออยู่วัดบางแคใหญ่ มีชื่อเสียงโด่งดังในการเทศน์มหาชาติ เมื่อพระอาจารย์เยื่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบางกุ้ง ท่านได้พัฒนาวัดให้ดีขึ้นเป็นอันมาก เช่น
- สร้างถนนจากหน้าโบสถ์ถึงท่าน้ำ
- ย้ายกุฏิสงฆ์ไปปลูกในที่ใหม่มาบังพุทธาวาส
- สร้างหอสวดมนต์
- สร้างกุฏิเจ้าอาวาสจากเรือนบริจาค
- สร้างหอฉัน
- สร้างศาลาท่าน้ำ ๒ หลัง
- ซ่อมอุโบสถใหม่ทั้งหมด
- สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่
วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ มีพระบรมราชโองการให้เป็น “พระครูสมุทรสัททาภรณ์” มรณภาพเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ อายุ ๘๐ ปี พรรษา ๖๐ วัดบางกุ้งจึงได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นจนถึงเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน
สิ่งสำคัญของวัด ที่ควรชม และนมัสการ ได้แก่
๑. อุโบสถ และพระประธานในอุโบสถ ฝีมือประณีตงดงามมาก องค์พระประธาน และพระอัครสาวก งดงามน่าชม พระประธานสลักด้วยศิลาแดงปางมารวิชัย เลียนแบบสุโขทัย พระพักตร์ค่อนข้างแปลก พระนามว่า “หลวงพ่อเทพนิมิตมงคล”
๒. หลวงพ่อแดง หน้าอุโบสถ สลักด้วยศิลาแดงปางมารวิชัย ชาวบ้านนับถือกันมาก
๓. อุโบสถปรกโพธิ์ และหลงพ่อนิลมณี
๔. อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
๕. สระน้ำโบราณ
๖. วังมัจฉาหน้าวัด ฯลฯ
การเดินทาง การเดินทางมาชมวัดบางกุ้งก็คือ การมาชมค่ายบางกุ้ง เพราะอยู่บริเวณเดียวกัน เดินทางมาวัดนี้สะดวกทั้งทางบกและทางน้ำ วัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ส่วนทางบกข้ามสะพานสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์จากอัมพวาฝั่งเมืองมาแล้ว ผ่านวัดบางนางลี่ใหญ่ – วัดภุมรินทร์กุฎีทอง – วัดท้องคุ้ง – วัดบางแคใหญ่ – ถนนผลไม้ – วัดบางแคน้อย – วัดปากน้ำ – วัดโบสถ์ – วัดอมรเทพ – ค่ายบางกุ้ง – วัดบางกุ้ง หรือจะข้ามสะพานอัมรินทรามาตย์จากบางคนทีฝั่งเมืองก็ได้ ข้ามสะพานแล้วเลี้ยวซ้ายตามถนนเลียบแม่น้ำแม่กลองวัดบางกุ้งไม่ไกลนัก
-----------------------------------------------------
พระครูพิทักษ์สมุทรเขต เจ้าอาวาสวัดบางกุ้ง