วัดเพชรสมุทรวรวิหาร

วัดเพชรสมุทรวรวิหาร

          วัดเพชรสมุทรวรวิหาร เป็นวัดสำคัญที่สุดในจังหวัดสมุทรสงครามเพราะวัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ เรียกกันว่า “หลวงพ่อบ้านแหลม” เป็นที่เลื่องลือรู้จักกันทั่วไปในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อ จึงเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสมุทรสงคราม บรรดาพุทธศาสนิกชนพากันมานมัสการตั้งแต่สมัยโบราณจวบจนทุกวันนี้
          วัดนี้ เป็นวัดโบราณ ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง เดิมชื่อว่า “วัดศรีจำปา” มีอายุไม่น้อยกว่า ๕๐๐ ปี เหตุที่เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดบ้านแหลม” ก็เนื่องมาจากชาวบ้านแหลมหนีภัยพม่ามาจากเพชรบุรี อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ปากคลองแม่กลองฝั่งใต้ใกล้กับวัดศรีจำปา เรียกหมู่บ้านนี้ว่า “พวกบ้านแหลม” ต่อมากลายเป็น “หมู่บ้านแหลม” แล้วช่วยกันบูรณะวัดศรีจำปาที่ร่วงโรยทรุดโทรมให้ดีขึ้น จึงเรียกวัดศรีจำปาเสียใหม่ว่า “วัดบ้านแหลม” ได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๐
          สิ่งสำคัญที่สุดของวัดดังกล่าวข้างต้น คือ “หลวงพ่อบ้านแหลม” พอเอ่ยถึงชื่อนี้ พุทธศาสนิกชนทั่วไปย่อมรู้จักกันดีว่า ท่านเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มีอภินิหาร ผู้ที่มีความศรัทธาในพระองค์ท่านมักจะไปขอให้ช่วยเหลือเนืองๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหายจากโรคภัยไข้เจ็บและการแคล้วคลาดรอดชีวิตจากอุบัติเหตุ เป็นต้น มีเรื่องเล่ากันมากมายในความศักดิ์สิทธิ์ และอภินิหาร ซึ่งไม่สามารถจะนำลงในที่นี้ได้
          จากหลักฐานปรากฏว่า มีชาวบ้านแหลมเพชรบุรีกลุ่มหนึ่งหนีโจรภัยพม่าที่ชอบเข้ามาปล้นสะดมเมืองเพชรเนืองๆ ชาวบ้านแหลมจึงได้พากันอพยพมาอยู่ที่ปากคลองแม่กลองเหนือ วัดศรีจำปา ชาวบ้านแหลมมีอาชีพทำการประมง ออกทะเลจับปลา วันหนึ่งไปล้อมอวนจับปลาที่ปากอ่าวแม่กลอง ได้พระพุทธรูปติดอวนขึ้นมา ๒ องค์ องค์หนึ่งเป็นพระยืนอุ้มบาตร แต่บาตรหายไปในทะเลแล้ว ภายหลังสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช ได้ประทานบาตรให้ใหม่เป็นบาตรแก้วสีน้ำเงิน ส่วนอีกองค์หนึ่งเป็นพระนั่งปางมารวิชัย ชาวบ้านได้แบ่งให้ญาติชาวบางตะบูนไป (บางตะบูนอยู่ติดกับบ้านแหลม) นำไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเครา มีความศักดิ์สิทธิ์มากเช่นเดียวกัน ขนานนามว่า “หลวงพ่อวัดเขาตะเครา” มาจนทุกวันนี้
          ชาวบ้านแหลมจะนำพระยืนไปประดิษฐานไว้ที่วัดใหญ่ ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปริมแม่น้ำแม่กลอง เพราะวัดศรีจำปานั้นร่วงโรยหญ้าขึ้นรกรุงรัง มีป่าจาก ต้นโกงกางขึ้นอยู่มาก วัดใหญ่นั้นเจริญกว่าแต่ไม่สามารถนำไปไว้ที่วัดใหญ่ได้ เพราะขณะที่นำไปได้เกิดพายุใหญ่รุนแรงนำพระขึ้นวัดไม่ได้ ต้องนำกลับมาไว้ที่วัดศรีจำปา แล้วช่วยกันบูรณะวัดศรีจำปาให้ดีขึ้น พร้อมกับเปลี่ยนชื่อใหม่ เป็น “วัดบ้านแหลม” เมื่อได้พระพุทธรูปมาใหม่ก็เรียกชื่อหลวงพ่อที่ได้มาใหม่ว่า “หลวงพ่อบ้านแหลม” ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อบ้านแหลมเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
          สาเหตุที่หลวงพ่อวัดบ้านแหลมต้องมาจมน้ำอยู่ที่ปากอ่าวแม่กลองนั้น มีข้อสันนิษฐานกันหลายอย่างแต่ที่น่าจะพิจารณา มี ๒ ประการ คือ
                    ๑. พ.ศ. ๒๓๐๘ หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย เจ้านายไทย หรือคนไทยนำหลวงพ่อบรรทุกเรือมาเพื่อนำไปซ่อนพม่า เมื่อรู้ข่าวพม่ายกทัพมาตีเมืองไทย แล้วเรือได้ล่มลง
                    ๒. หรืออาจจะเป็นพระชัยนำทัพ ของแม่ทัพนายกองครั้งรบกับพม่าที่เมืองเพชรบุรี เพราะจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทราบว่า พ.ศ. ๒๓๐๗ พม่ายกทัพมาทางใต้ เข้าตีถึงเมืองกระ เมืองระนอง จนถึงชุมพร ไชยา แล้วกลับขึ้นมาตีเมืองประทิว เมืองกำเนิดนพคุณ เมืองคลองวาน เมืองกุย เมืองปราณ จนถึงเมืองเพชรบุรี (หากมาทางบกมักเข้าทางด้านสิงขร ประจวบฯ) กรุงศรีอยุธยาทราบข่าวศึก ให้กองทัพพระยาพิพัฒน์โกษา และพระยาตากสินยกทัพไปทันรักษาเมืองไว้ได้ เรือลำหนึ่งลำใดที่นำท่านมาอาจจะล่มลง หลวงพ่อจมน้ำอยู่ไม่นานจึงติดอวนชาวประมงขึ้นมาได้ หากจมอยู่นาน ๕๐ – ๑๐๐ ปี โคลนทรายคงจะกลบองค์ท่านจมดินลงไปแล้ว
          องค์หลวงพ่อบ้านแหลมนั้น เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองเหลือง ปางอุ้มบาตร ที่งดงามมาก (น่าเสียดายที่ประชาชนไม่มีบุญจะได้ชมความงามขององค์ท่าน เพราะถูกปิดทองเต็มไปหมดจนถึงพระพักตร์ เหมือนกับหลวงพ่อวัดเขาตะเครา หลวงพ่อวัดไร่ขิง ฯลฯ) ความสูงจากปลายนิ้ว พระบาทถึงยอดพระเกศามาลา ๑๖๗ ซ.ม. คือขนาดเท่าคนธรรมดา พุทธลักษณะผสมกลมกลืนกันระหว่างอยุธยาตอนต้นกับสุโขทัยตอนปลาย พระพักตร์งามเหมือนพักตร์เทพบุตร พระเกศามาลาเป็นเปลวเพลิงแบบพระพุทธรูปสุโขทัย สังฆาฏิเส้นเล็กพาดยาวมาถึงพระชงฆ์  จีวรทำแผ่เป็นแผ่นแผงอยู่เบื้องหลังมีแฉกมุมแบบอยุธยา ทรวดทรงเหมาะเจาะกะทัดรัดงดงามประดุจหนุ่มน้อยเทพบุตร
          กรมศิลปากรได้จดทะเบียนไว้เป็นโบราณวัตถุแห่งชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๒
          ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อบ้านแหลมเป็นที่เลื่องลือไปไกล พระมหากษัตริย์ไทย พระราชวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช บุคคลสำคัญๆได้มานมัสการหลงพ่อบ้านแหลมมาจนทุกวันนี้ อาทิ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองสมุทรสงคราม ๔ ครั้ง คือ
          ครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๔๑๖ เสด็จโดยเรือยนต์มาทางทะเล เข้าอ่าวแม่กลองไปยังเมืองกาญจนบุรี
          ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๔๓๙ เสด็จประพาสเมืองสมุทรสงครามผ่านมาทางประตูน้ำบางยาง
          ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๔๔๗ เสด็จประพาสเมืองสมุทรสงคราม แบบประพาสต้น เมื่อวันที่ ๑๒ เดือนกรกฎาคม ๒๔๔๗
          ครั้งที่ ๔ พ.ศ.๒๔๕๒ เสด็จถึงเมืองสมุทรสงคราม เมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๔๕๒
          น่าจะได้เสด็จขึ้นนมัสการหลวงพ่อบ้านแหลมครั้งใด ครั้งหนึ่ง หรือมากกว่า เพราะปรากฏหลักฐานจากพระราชหัตถเลขาพระราชทานแก่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งดำรง พระยศเป้นมกุฎราชกุมาร ในบทพระราชนิพนธ์จดหมายเหตุ “พระราชหัตถเลขาเสด็จประพาสมณฑลราชบุรี” ทรงรับสั่งว่า “วัดอัมพวันทรุดโทรมมากเพราะหาสมภารดีๆไปอยู่ไม่ได้ ไม่เหมือน วัดบ้านแหลม และวัดพวงมาลัย ซึ่งมีประโยชน์ทางของขลัง” ทรงหมายถึงหลวงพ่อแก้ววัดพวงมาลัย ซึ่งมีอาคมขลังเป็นที่เลื่องลือ ส่วนวัดบ้านแหลมมีหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์คนนิยมนับถือกันมาก
          นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่า ได้พระราชทานเครื่องราชสักการะให้แก่หลวงพ่อบ้านแหลมโดยให้คนนำไปถวาย หรือถวายด้วยพระองค์เอง ตามธรรมเนียมของพระมหากษัตริย์ไทย เมื่อเสด็จผ่านวัดที่มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์
          สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เสด็จเมืองสมุทรสงคราม โดยเสด็จ ในกระบวนหลวงทรงเลื่อมใสหลวงพ่อบ้านแหลม ให้คนนำเครื่องสักการะไปถวาย ได้รับสั่งว่า ขอผลานิสงส์แห่งความเลื่อมใสจงดลบันดาลให้หายประชวร เมื่อเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ ไม่นานก็หายประชวร ทรงระลึกได้ พระราชทานปัจจัยมูลค่า ๘๐๐ บาท เพื่อช่วยในการปฏิสังขรณ์วัดบ้านแหลม ข้อความนี้มีอยู่ในพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ ๖ ถึงเจ้าอาวาสวัดบ้านแหลม คือ พระมหาสิทธิการ (แดง)
          พระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช ได้เสด็จมานมัสการ และถวายบาตรแก้วสีน้ำเงินแทนบาตรที่หายไปในทะเล
          นอกจากนี้ยังมีบุคคลสำคัญๆที่เคยเสด็จทอดพระเนตร และนมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม ที่ควรกล่าวถึง คือ
                    ๑. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จมาตรวจการคณะสงฆ์ เมืองสมุทรสงคราม เสด็จมานมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๕๘ และ  ทรงประทับแรมอยู่ ๔ คืน
                    ๒. เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ และ พ.ศ. ๒๔๖๖ สมเด้จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานครสวรรค์วรพินิต ได้เสด็จมานมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม และทรงทำบุญเลี้ยงพระด้วย
                    ๓. วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๔ สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เสด็จทอดพระเนตร และนมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม
                    ๔. พ.ศ. ๒๔๙๕ พระยารามราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มานมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม และถวายโคมไฟฟ้าไว้ในโบสถ์ด้วย
                    ๕. วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๙๙ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มานมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม เมื่อมาวางศิลาฤกษ์ศาลากลางจังหวัด และเปิดถนนสายปากท่อ
                    ๖. วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๐๔ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มานมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม เมื่อครั้งมาประชุมชาวนาเกลือ
                    ๗. วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๐๖ พลเอกประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มานมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม
                    ๘. วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๐๙ นาอภัย จันทวิมล ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้มานมัสการเมื่อครั้งเดินทางมาดูค่ายบางกุ้ง
                    ๙. วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ นายสุกิจ นิมมานเหมินทร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและคณะได้มานมัสการ
                    ๑๐. วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ พระองค์เจ้าหญิงสุทธศิริโสภา และพระองค์เจ้าหญิงจุไรรัตน์สิริมาน ได้เสด็จมานมัสการ
                    ๑๑. วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๑๔ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก วัดมกุฏกษัตริยารามได้เสด็จมานมัสการ
                    ๑๒. วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๑๕ คุณหญิงน้อย รุจิวงศ์ ได้เสด็จมานมัสการ
                    ๑๓. วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๑๖ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเสด็จมานมัสการ
                    ๑๔. วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๑๖ นายดำรง สุนทรศารทูล อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะได้มานมัสการสมัยเป็นอธิบดีกรมการปกครอง
                    ๑๕. วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๑๗ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้มานมัสการ
                    ๑๖. วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๑๗ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และคณะ ได้มานมัสการ เมื่อครั้งมาเปิดศาลหลักเมืองสมุทรสงคราม
                    ๑๗. วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๑๗ ม.จ.หญิงพูนพิสมัย ดิศกุล ได้เสด็จมานมัสการ ครั้งทรงเปิดป้ายพุทธสมาคมจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นครั้งแรก และครั้งที่สอง วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๒๐ เสด็จนมัสการหลวงพ่อบ้านแหลมแล้วทรงเยี่ยมพุทธสมาคมฯ
                    ๑๘. วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๑๘ สมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดจักรวรรดิราชาวาส กรุงเทพฯ ได้มานมัสการ
                    ๑๙. วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์  ๒๕๑๙ ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล และท่านผู้หญิงดุษฎี   มาลากุล ได้มานมัสการ
                    ๒๐. วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๒๐ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงค์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายา เสด็จมานมัสการ
                    ๒๑.วันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๒๑ สมเด็จพระอริวงศาคตาณ วัดราชบพิตร กรุงเทพฯ เสด็จมานมัสการ
                    ๒๒. วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๒๕ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เสด็จพระราชดำเนินมากระทำพิธียกช่อฟ้าพระอุโบสถที่ซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ใหม่ และนมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม
                    ๒๓. วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๒๙ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้มานมัสการ
                    ๒๔. วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๓๐ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เสด็จประพาสเมืองสมุทรสงคราม ทอดพระเนตรอุทยาน ร.๒ และต้นลิ้นจี่อายุ ๑๐๐ ปี ใกล้วัดบางเกาะเทพศักดิ์ แล้วเสด็จนมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม
                    ๒๕. สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังวฆราช เสด็จมานมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม เมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๔๖
                          ฯลฯ
          เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖ เกิดอหิวาตกโรคระบาดหนักทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง ผู้คนล้มตายกันมากโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ตามลำน้ำแม่กลองก็เสียชีวิตไม่น้อย บ้านเมืองเงียบเหงา เพราะผู้คนเชื่อกันว่า “โรคห่า” ระบาด ต่างก็แสวงหาของดีกันโรคห่า เช่น สวมแหวนที่ทำจากกะลามะพร้าวกะทิกันโรคห่า เป็นต้น ครั้งนั้นเจ้าอาวาสวัดบ้านแหลม คือท่านเจ้าคุณสนิทสมณคุณได้ฝันไปว่า หลวงพ่อมาเข้าฝันบอกคาถากันโรคห่าให้บทหนึ่ง ให้ไปดูที่พระหัตถ์ของหลวงพ่อในโบสถ์ จึงเข้าไปดูที่พระหัตถ์ของหลวงพ่อ พบว่า ที่พระหัตถ์ขวามีคาถา “นะ มะ ระ อะ” และคา๔ “นะ เท วะ อะ” อยู่ที่พระหัตถ์ซ้าย จึงจดเอามาทำน้ำมนต์ ให้ชาวบ้านนำไปอาบกินปรากฎว่าได้ผลดี อหิวาตกโรคก็สงบลงตั้งแต่นั้นมา ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อยิ่งเลื่องลือไปไกล
          สิ่งสำคัญของวัดที่ควรชมและนมัสการ ได้แก่
                    ๑. หลวงพ่อบ้านแหลมในอุโบสถ
                    ๒. พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๑ องค์ รัชกาลที่ ๕ ทรงถวายหลวงพ่อบ้านแหลม หลังจากเสด็จมาทรงนมัสการแล้ว
                    ๓. พระบรมสาทิสลักษณ์ สีน้ำมัน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถวายหลวงพ่อบ้านแหลม
                    ๔. สายสะพายปักดิ้น ๒ สาย สายหนึ่งจารึกพระปรมาภิไธย จ.ป.ร. อีกสายหนึ่งจารึกพระบรมฉายาลักษณ์ รัดเอวประคตเอวปักดิ้น ๑ สาย เป็นของ ร.๕ ถวายหลวงพ่อบ้านแหลม
                    ๕. ลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (ร.๖) ๑ ฉบับ ถึงเจ้าอาวาสวัดบ้านแหลม แจ้งถึงการนำส่งเงินจำนวน ๘๐๐ บาท ของสมเด็จพระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๕ ถวายช่วยในการปฏิสังขรณ์วัดบ้านแหลม
                    ๖. บาตรแก้วเจียรนัย ๑ ลูก สีน้ำเงินแก่ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธุวงศวรเดชทรงถวายหลวงพ่อบ้านแหลม
                    ๗. พระไตรปิฎกฉบับภาษาพม่า ๑ ชุด รัฐบาลพม่ามอบให้วัด
                    ๘. เจดีย์ด้านหลังพระอุโบสถ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘ ได้นำพระพุทธรูปจำนวนมากบรรจุไว้
                    ๙. แท่นพระพุทธบาทจำลอง ๑ แท่น
                    ๑๐. ธรรมาสน์บุษบกลงรักปิดทอง ๑ ธรรมาสน์
                    ๑๑. ธรรมาสน์เทศน์ประดับมุก
                    ๑๒. ธรรมาสน์ปาฏิโมกข์ ปิดทองล่องชาด
                          ฯลฯ
          เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พ.ศ. ๒๓๑๐ นั้น วัดบ้านแหลมตั้งอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำแม่กลอง คงจะยังไม่เจริญนัก จึงรอดพ้นจากสายตาของพม่าที่เข้าปล้นสะดม ทำลายวัดตามริมฝั่งเช่นกับวัดอื่นๆ หรือด้วยบุญญาภินิหารของหลวงพ่อทรงคุ้มครองไว้ อาจารย์ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ ได้บรรยายให้ฟังว่า “เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาล่มสลายด้วยฝีมือของกองโจรพม่า พ.ศ. ๒๓๑๐ นั้น ประชาชนทุกข์ยากแสนสาหัสทุกคนพยายามหนีเอาตัวรอด แม้แต่พระพุทธรูปก็มีน้ำพระเนตรไหลออกมา เช่นพระมงคลบพิตร หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง ส่วนหลวงพ่อ  วัดบ้านแหลมนั้น เล่ากันว่ามีพระเนตรไหลออกมาเป็นสีเลือด และจากพุทธลักษณะที่งดงามของ หลวงพ่อบ้านแหลมนั้น น่าจะมีฝีมือของช่างหลวง เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน หรือเจ้านายชั้นสูงเท่านั้น ที่จะทำได้
          พ.ศ. ๒๔๙๖ กรมศิลปากรได้นำอุโบสถวัดบ้านแหลมนั้นเข้าบัญชีเป็นโบราณสถานแห่งชาติ  วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะวัดบ้านแหลมเป็นพระอารามหลวง และพระราชทานนามว่า “วัดเพชรสมุทรวรวิหาร”

------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระราชสมุทรวชิรโสภณ เจ้าอาวาสวัดเพชรสมุทรวรวิหาร
ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๕
Website : https://วัดเพชรสมุทรหลวงพ่อบ้านแหลม.net/

 

 

 


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image

image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
 
 
 
 

Website Policy | Privacy Policy | Security Policy | Disclaimer | ข้อกำหนดการใช้ Cookies รองรับการทำงานบน Internet Explorer v.11+, Microsoft Edge, Firefox v.47.0+, Chrome v.51+

จำนวนการเข้าชม : 898,716