วัดดาวดึงษ์
วัดดาวดึงษ์ ตั้งอยู่ที่คลองดาวดึงษ์ หมู่ที่ ๖ ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
วัดดาวดึงษ์ เป็นวัดโบราณเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้เพราะอุโบสถหลังเก่ามีรูปทรง และก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่เช่นเดียวกับวัดจุฬามณี และตั้งอยู่ในตำบลเดียวกัน พระประธานในอุโบสถแกะจากศิลาแดง ศิลปะสมัยอยุธยา วัดนี้เป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติไทย อาจารย์ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้บรรยายไว้ว่า “วัดดาวดึงษ์ เป็นวัดเก่าสร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา ประมาณ พ.ศ. ๒๑๐๐ ตั้งอยู่ติดถนนสายบางแพ - สมุทรสงคราม และติดคลองดาวดึงษ์ ร.๕ เสด็จประพาสที่วัดนี้ ๒ ครั้ง คือ ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ประทับเสวยพระกระยาหารบนศาลาการเปรียญ ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๒ แล้วเสด็จต่อไปที่ตำบลท่าคา น้ำที่คลองสามแยกวัดนี้ ถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่ง ใช้ในพระราชพิธีมุรธาภิเษกของราชวงษ์จักรี ร.๒ ประสูติที่พระตำหนักวัดอัมพวันเจติยาราม เวลาเสด็จมาเยี่ยมพระประยูรญาติ ชอบเสด็จไปสรงน้ำ (เล่นน้ำ) หน้าวัดดาวดึงษ์ด้วย”
ร.๕ เสด็จวัดดาวดึงษ์ สมัยที่หลวงพ่อทัดเป็นเจ้าอาวาส เสด็จครั้งหลังพระราชทานเงิน ๓ ตำลึง ถวายพระที่สวดชยันโตต้อนรับ และทรงตั้งกำนันตำบลท่าคาเป็นหมื่นปฏิคมท่าคา (จันทร์ เป็นต้นสกุลจันทรประภา) การเสด็จครั้งนี้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงลืมธารพระกรไว้ หลวงตาชุ่มวัดดาวดึงษ์ได้นำลงเรือไปถวายคืน ที่พระตำหนักภาโนทยานใกล้ วัดพวงมาลัย ทรงถวายเงินให้หลวงตาชุ่ม ๖ บาท ในปีที่เสด็จมาครั้งหลังนั้นเอง (พ.ศ. ๒๔๕๒) พระองค์เจ้าชายอุรุพงษ์รัชสมโภชสิ้นพระชนม์ ทางสำนักพระราชวังได้มีฎีกามาอาราธนาหลวงพ่อทัดวัดดาวดึงษ์ และหลวงปู่แจ้งวัดประดู่ไปงานพระราชทานเพลิงศพด้วย เสร็จพิธีแล้วทรงพระราชทานเรือสำปั้น ๓ กระทง ให้หลวงพ่อทัดลำหนึ่ง หลวงพ่อทัดใช้เรือลำนี้ออกบิณฑบาตอยู่เสมอ เวลานี้ชำรุดสูญหาย ไปเสียแล้ว
แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ บริเวณ “คลองสามแยก” (คลองผีหลอก คลองอัมพวา และคลองดำเนินสะดวก โดยคลองทั้งสามสายต่างไหลเชื่อมต่อกับแม่น้ำราชบุรี แม่กลอง) หน้าอุโบสถวัดดาวดึงษ์แห่งนี้ ถูกนำไปใช้ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สืบต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งในเบญจสุทธคงคา ได้ใช้ในการพระราชพิธีสำคัญ ในสมัยรัชกาลที่ ๙ จำนวน ๒ ครั้ง ได้แก่ พิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ นำไปประกอบพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชการที่ ๙) เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ พระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) และ ในสมัยรัชกาลที่ ๑๐ จำนวน ๑ ครั้ง ได้แก่ พิธีทำน้ำอภิเษก พิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐
วัดดาวดึงษ์ดำรงสภาพอยู่ได้ก็ด้วยความสามารถของเจ้าอาวาส และประชาชนให้ความร่วมมือ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๐ พระครูไวย ธมฺมสโร เป็นเจ้าอาวาส วัดมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก และมีรองเจ้าอาวาสที่เข็มแข็ง ชื่อพระง้อ อํสุมาลี ได้เป็นหัวหน้าริเริ่มเชิญชวนประชาชนทั่วไปร่วมกันบริจาคทรัพย์ และสิ่งของตามกำลังศรัทธา สร้างอุโบสถหลังใหม่แทนหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม กุฏิสงฆ์ หอสวดมนต์ หอกลาง ทำการรื้อย้ายปรับสภาพใหม่ และอื่น ๆ อีกมากดังที่ประจักษ์มาจนทุกวันนี้
สิ่งที่สำคัญของวัด ที่ควรชม และนมัสการ ได้แก่
๑. พระประธานประจำอุโบสถ แกะสลักด้วยศิลาแดง ปางมารวิชัยของเก่าคู่มากับวัด
๒. สิ่งของพระราชทานจากสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๕) อาทิ
- ธรรมาสน์ ๑ ธรรมาสน์
- หอสวดมนต์ ๑ หลัง
- ตู้พระไตรปิฎก ๑ ตู้ พระราชทานพร้อมกับเครื่องสังเค็ด
๓. กุฏิสงฆ์ทรงไทยสวยงาม
๔. ธรรมาสน์เทศน์ของเจ้าจอมมารดาสำลี ถวายวัด
๕. หอพระได้มาสมัยเดียวกับธรรมาสน์ของเจ้าจอมมารดาสำลี อายุกว่า ๑๐๐ ปีแล้วเดิมเป็นตำหนักของกรมหมื่นอดิศรอุดมเดช (พระองค์เจ้าสุขสวัสดิ์) ปลูกอยู่ที่ท่าเตียน ทรงถวายวัดดาวดึงษ์ หลวงพ่อทัดจึงไปรื้อเอามาปลูกไว้ที่วัดนี้ เป็นเรือนโบราณ เดิมทำเป็น กุฏิสงฆ์มี ๕ ห้อง ต่อมาย้ายมาปลูกใหม่ทำเป็นหอพระ เพดานสีเขียว คอสองมีภาพเขียนเป็นพวงอุบะห้อย ฝีมือวิจิตรงดงามมาก
วัดดาวดึงษ์ประกาศเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๑๒๔ ได้รับวิสุงคามสีมา พ.ศ. ๒๔๙๔
การเดินทาง วัดดาวดึงษ์สมัยโบราณ การเดินทางใช้ทางน้ำ เพราะด้านใต้ของวัด คือคลองดาวดึงษ์ ปัจจุบันการเดินทางสะดวกมาก ทางรถยนต์ถนนดีจากตลาดแม่กลอง หรือจากราชบุรีใช้ถนนสายบางแพ - สมุทรสงคราม ถ้าเดินทางมาจากตลาดแม่กลอง วัดดาวดึงษ์อยู่ทางขวามือเลยวัดจุฬามณีไปเล็กน้อย ถ้ามาจากราชบุรีวัดดาวดึงษ์อยู่ทางซ้ายมือก่อนถึงวัดจุฬามณี
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระปลัดดิเรก นราสโภ เจ้าอาวาสวัดดาวดึงษ์